ป้องกันตัวแบบไหนไม่เป็นความผิด

Last updated: 14 พ.ย. 2564  |  22915 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ป้องกันตัวแบบไหนไม่เป็นความผิด

บางครั้งเราก็จำเป็นที่จะต้องทำอะไรบางอย่างที่กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดเพื่อปกป้องตนเองหรือบุคคลที่เรารักจากภยันตรายต่างๆ ซึ่งการป้องกันตนเองนี้กฎหมายก็รับรองว่าทำได้โดยการบัญญัติยกเว้นความผิดเอาไว้ แต่ก็อยู่ภายใต้เงื่อนไขหลายอย่าง วันนี้ทนายขอแนะนำความรู้เกี่ยวกับการป้องกันในทางกฎหมายว่าเราจะป้องกันตัวโดยชอบด้วยกฎหมายได้อย่างไร

1.      ต้องมีภยันตรายที่ใกล้จะถึง โดยขอแยกออกเป็นสองประเด็นคือ “ภยันตราย” กับ “ใกล้จะถึง”

ภยันตรายหมายถึงการกระทำอันละเมิดต่อกฎหมายที่จะเกิดกับชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของเรา (หรือของผู้อื่น) โดยต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงจนไม่สามารถหาทางออกด้วยวิธีอื่นแล้ว กรณีใดจะถือว่าเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงก็ต้องดูพฤติการณ์แต่ละอย่างไป เช่น ชักปืนขึ้นมาเล็ง ถือมีดดาบปลายแหลมลุยข้ามคลองจะไปทำร้ายคนถึงในบ้าน  เป็นต้น

2.      ผู้ที่จะอ้างป้องกันได้นั้นจะต้องไม่มีส่วนในการก่อภัยนั้น เช่น ยั่วยุให้ผู้อื่นโกรธ สมัครใจทะเลาะวิวาท ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำต่อตนเองโดยสมัครใจ ถ้ามีกรณีดังกล่าวจะมาอ้างว่ากระทำไปเพราะป้องกันตัวไม่ได้

3.      ต้องกระทำต่อผู้ก่อภัย  จะไปลงกับลูกหลานผู้ก่อภัยหรือผู้อื่นไม่ได้ เช่นนายดำยกปืนขึ้นเล็ง ถ้าจะตอบโต้ก็ต้องตอบโต้นายดำ ไม่ใช่กระทำต่อลูกนายดำที่อยู่ข้างๆ เป็นต้น

4.      การกระทำเพื่อป้องกันนั้นจะต้องไม่เกินกว่าเหตุ หรือพูดง่ายๆว่าพอสมควรแก่เหตุ ไม่เกินจำเป็น กระทำด้วยวิถีทางที่น้อยที่สุด (หรือหมายถึงวิธีการที่เบาที่สุดนั่นเอง)

เพื่อให้เห็นภาพขอยกตัวอย่างกรณีการกระทำเกินกว่าเหตุ

เด็กเข้าไปลักทรัพย์ในบ้านแต่ผู้กระทำใช้มีดโต้ฟันหัวเด็กเป็นแผลฉกรรจ์ (อาจใช้วิธีการอื่นที่เบากว่านี้ได้แต่กลับไม่ทำ กลับใช้มีดฟันหัวจนเหวอะ อันนี้ก็เกินไป) - ฎ.๔๙๕๕/๒๕๒๘

ผู้ตายแสดงท่าทีจะใช้มีดทำร้ายจำเลย แต่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายจนถึงแก่ความตาย แม้จะเป็นการป้องกันแต่ผู้ตายก็มิได้จู่โจมทำร้าย จำเลยอาจเลือกใช้วิธีการอื่นได้แต่กลับใช้ปืนยิงหน้าอกซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ (เล็งขา แขน ก็ได้ แต่ซัดที่หน้าอกตรงๆ กะให้ตายแบบนี้ เกินกว่าเหตุ) - ฎ.๙๙/๒๕๓๔

ผู้ตายใช้ขาโต๊ะทำร้ายจำเลย จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายบริเวณหน้าอกจนถึงแก่ความตาย เป็นการป้องกันเกินกว่าเหตุ - ฎ.๑๔๐๘/๒๕๓๗

 

ตัวอย่างการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

ผู้เสียหายกับพวกช่วยกันรุ่มทำร้ายจำเลย จำเลยวิ่งหนีมาถึงทางสามแยกและหนี้ต่อไปไม่ทัน จึงหันกลับมาแล้วชักปืนขู่ผู้เสียหายว่า อย่าเข้ามา ถ้าเข้ามาจะยิง แต่ผู้เสียหายไม่เชื่อวิ่งเข้าไปจะทำร้ายจำเลย จำเลยจึงยิงปืนใส่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายเป็นฝ่ายทำร้ายจำเลยก่อน จำเลยพยายามหลีกเลี่ยงการต่อสู้จนถึงที่สุดแล้วหากปล่อยให้ผู้เสียหายกับพวกเขาประชิดตัวอาจถูกทำร้ายถึงตายได้ จำเลยใช้ปืนยิง ๑ นัดจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ - ฎ. ๑๑๓๖/๒๕๒๙

ผู้ตายลากจำเลยเข้าข้างทางเพื่อข่มขืนและขู่ว่าจะฆ่า จำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตาย ๑ ครั้งแล้ววิ่งหนี ผู้ตายวิ่งตามมาพยายามจะแย่งมีด จำเลยจึงแทงผู้ตายอีกหลายครั้ง ถือได้ว่าภยันตรายยังไม่หมดไป การที่จำเลยเป็นหญิงอยู่ในภาวะเช่นนั้นจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ - ฎ.๑๘๒๖/๒๕๓๐

5.      การป้องกันภัยนั้นทำได้โดยไม่ต้องหนี แม้จะหนีได้แต่ไม่หนี โดยกระทำการตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองย่อมทำได้ โดยเฉพาะหากอยู่ในบ้านตนเอง ไม่ต้องหลบหนีออกจากบ้านแต่ก็ไม่ควรออกไปตอบโต้หรือออกไปเผชิญหน้ากับผู้ก่อภัย เพราะอาจกลายเป็นสมัครใจวิวาทได้ - ฎ.๓๐๘๙/๒๕๔๑

 

อย่างไรก็ตามในทางปฏิบัติคงเป็นการยากที่จะมีเวลาเพียงพอในการวิเคราะห์ถึงประเด็นต่างๆ ดังที่กล่าวมา ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันตนเองคือ “สติ” ไม่หลงไปตามอารมณ์โกรธ กลัวหรือเกลียด ใช้สติเป็นตัวกำกับความคิดว่าจะหลบหลีกหรือป้องกันภัยอย่างไร ดังคำกล่าวที่ว่า “สติมาปัญญาเกิด” นั่นเอง

......................

ทนายดิษญา

www.chandislaw.com

เพจ: ปรึกษากฎหมายและคดีความ(ฟรี) โดยทนายตัวจริง

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้