Last updated: 12 ม.ค. 2568 | 111 จำนวนผู้เข้าชม |
เจตนารมณ์ของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ
กฎหมายฟื้นฟูกิจการมีความมุ่งหมายให้ลูกหนี้ที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัวโดยเฉพาะลูกหนี้ที่เป็นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจได้มีโอกาสที่จะเริ่มต้นใหม่แทนที่จะถูกฟ้องล้มละลายหรือต้องปิดกิจการ ซึ่งจะส่งผลกระทบหลายอย่างต่อเศรษฐกิจ
ประโยชน์ของการฟื้นฟูกิจการ
· เมื่อเข้าสู่การฟื้นฟูกิจการ จะเกิดสภาวะพักการชำระหนี้หรือ Automatic stay หรือ Moratorium เจ้าหนี้ต่างๆจะต้องหยุดการดำเนินการฟ้องร้องหรือบังคับต่อทรัพย์สินของลูกหนี้ ภาวการณ์พักชำระหนี้เกิดนับตั้งแต่ศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา
· ธุรกิจของลูกหนี้ยังสามารถดำเนินต่อได้ ไม่ต้องหยุดกิจการหรือเลิกจ้าง ลูกหนี้ก็สามารถดำเนินกิจการต่อเพื่อนำเงินมาชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ได้ซึ่งเป็นผลดีมากกว่าการที่ต้องปล่อยให้ลูกหนี้ล้มละลายแล้วนำทรัพย์มาออกขาย เป็นการรักษาธุรกิจที่มีศักยภาพในการผลิตสินค้าและบริการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเอาไว้ได้
· หากการฟื้นฟูกิจการประสบความสำเร็จเจ้าหนี้ก็จะได้รับชำระหนี้ไม่น้อยกว่าการที่ต้องนำทรัพย์ของลูกหนี้ออกขายทอดตลาดกรณีลูกหนี้ล้มละลาย
การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
บุคคลที่มีสิทธิในการยื่นคำร้อง
· ตัวลูกหนี้เอง
· เจ้าหนี้คนเดียวหรือหลายคนรวมกันที่มีหนี้จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐ ล้านบาท
· หรือหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจในการกำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) ถึง (๖) ได้แก่
(๓) ธนาคารแห่งประเทศไทย กรณีที่ลูกหนี้เป็นธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์หรือบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
(๔) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทหลักทรัพย์
(๕) กรมการประกันภัย ในกรณีที่ลูกหนี้เป็นบริษัทประกันวนาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิต
(๖) หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจกำกับดูแลการประกอบกิจการของลูกหนี้ซึ่งเป็นนิติบุคคลหน่วยงานของรัฐและลูกหนี้ดังกล่าวให้เป็นไปตามกฎกระทรวง
โดยเจ้าหนี้ตามมาตรา ๙๐/๔ (๓) ถึง (๖) รวมถึงตัวลูกหนี้เองจะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กรมการประกันภัยหรือหน่วยงานของรัฐตาม (๖) แล้วแต่กรณี
เงื่อนไขในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
· ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้ การที่จะพิจารณาว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ต้องพิจารณาจากฐานะการเงินของลูกหนี้เป็นหลักว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินหรือไม่โดยจะต้องพิจารณาจากหลักฐานต่างๆ ประกอบกัน งบการเงินถือเป็นหลักฐานสำคัญประการหนึ่งที่จะพิจารณาว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่
· แม้ว่าลูกหนี้จะมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินก็ตาม แต่หากลูกหนี้ขาดสภาพคล่องทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามกำหนดได้ก็ถือได้ว่าเข้าหลักเกณฑ์เนื่องจากลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด (โดยกฎหมายไม่ได้กำหนดจำนวนหนี้ที่ไม่สามารถชำระได้)
· มีเหตุสมควรหรือมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ มูลเหตุอันสมควรก็คือที่มาหรือเหตุที่ทำให้ลูกหนี้ประสบปัญหาอาจจะเนื่องมาจากการปรับลดค่าเงิน ปัญหาโรคระบาด ภาวะสงครามที่ส่งผลกระทบต่อกิจการของลูกหนี้ ส่วนช่องทางในการฟื้นฟูกิจการก็คือวิธีการในการที่ลูกหนี้จะสามารถนำพาธุรกิจกลับมาสู่สภาวะปกติได้ เช่น การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การหาแหล่งเงินทุนใหม่ การปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน เป็นต้น
· ในทางตรงกันข้ามกรณีไม่มีหตุสมควรและไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ เช่น ลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ แม้จะมีเครื่องจักรมีโรงงานหรือสถานประกอบการแต่ก็ไม่มีลูกจ้างหรือพนักงานเดินเครื่องหรือทำงาน ก็ไม่อาจจะมีการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับมาประกอบกิจการได้ตามปกติได้ กรณีจึงถือได้ว่าไม่มีเหตุสมควรและไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ
ข้อห้ามหรือข้อจำกัดที่ไม่ให้ยื่นฟื้นฟูกิจการตามมาตรา ๙๐/๕
· ลูกหนี้ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
· ศาลหรือนายทะเบียนมีคำสั่งให้เพิกถอนทะเบียนนิติบุคคลของลูกหนี้หรือลูกหนี้เลิกกิจการโดยไม่ต้องคำนึงว่าชำระบัญชีเสร็จแล้วหรือไม่
· ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ภายในระยะเวลา ๖ เดือนก่อนยื่นคำร้อง
ผลของคำสั่งศาลที่สั่งรับคำร้องฟื้นฟูกิจการ
· เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการผู้ร้องจะถอนคำร้องขอไม่ได้ เว้นศาลจะอนุญาต กรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้วศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้ ตามมาตรา ๙๐/๘ วรรคหนึ่ง
· กรณีผู้ร้องขอทิ้งคำร้องขอหรือขาดนัดพิจารณา หรือกรณีที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องขอถอนคำร้องขอ ก่อนที่ศาลจะสั่งจำหน่ายคดี จ้ะองให้มีการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันอย่างน้อย ๑ ฉบับเพื่อให้เจ้าหนี้และลูกหนี้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน
· กรณีที่ศาลสั่งรับคำร้องเจ้าหนี้จะต้องงดดำเนินการบังคับตามสิทธิของตน โดยจะต้องเข้ามาสู่คดีฟื้นฟูกิจการเพื่อให้ลูกหนี้ได้มีเวลาในการปรับโรงสร้างและหาแนวทางในการชำระหนี้
กระบวนการในการพิจารณาคดีฟื้นฟูกิจการ
· ประกาศคำสั่งรับคำร้อง วันและเวลาในการไสวนและแจ้งให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทราบผ่านการประกาศทางหน้าหนังสือพิมพ์ไม่น้อยกว่า ๗ วัน และส่งสำเนาคำร้องให้แก่เจ้าหนี้และนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทหรือทะเบียนนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อให้จดแจ้งคำสั่งไว้ในทะเบียน
· เมื่อเจ้าหนี้รับทราบคำสั่งการรับคำร้องแล้วเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านได้ก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรก ไม่น้อยกว่า ๓ วัน ตามมาตรา ๙๐/๙ วรรคสาม
· ในการคัดค้านเจ้าหนี้หรือลูกหนี้สามารถยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้ตามกฎหมาย อาจแบ่งได้เป็น ๒ กรณี (๑) กรณีเป็นการคัดค้านผู้ทำแผนว่าไม่มีความเหมาะสม โดยอาจจะเสนอชื่อผู้ทำแผนเข้าไปด้วยหรือไม่ก็ได้ หากมีการเสนอชื่อผู้ทำแผนจะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้ถูกเสนอชื่อด้วย (๒) การคัดค้านในส่วนของเงื่อนไขของการยื่นคำร้อง เช่น ลูกหนี้ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว ยังอยู่ในสภาวะที่สามารถชำระหนีได้หรือกิจการของลูกหนี้มีสภาพคล่องไม่ได้มีปัญหาการชำระหนี้ หรือไม่มีเหตุสมควรหรือไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ เป็นต้น
· ในการไต่สวนคู่ความจะต้องเตรียมพยานมาพร้อมสำหรับการสืบพยานทุกนัด หากผู้ร้องขอหรือผู้คัดค้านไม่มาหรือไม่นำพยานเข้าสืบ ถือว่าไม่ติดใจร้องขอหรือคัดค้าน หรือไม่ติดในสืบพยาน แล้วแต่กรณี หากผู้ร้องขอไม่มาศาลนัดแรกถือว่าขาดนัดพิจารณาตาม ปพพ.มาตรา ๒๐๐ และพ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลาย มาตรา ๑๔ ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดี หากผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนพยานผู้ร้องขอนัดอื่นๆ ถือว่าผู้ร้องขอไม่ติดใจร้องขอ
· กรณีผู้คัดค้านไม่มาศาลนัดใด ๆ ถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน หากเป็นกรณีไม่เตรียมพยานมาสืบถือว่าไม่ติดใจนำหลักฐานมาสืบ หากผู้ร้องขอและผู้คัดค้านไม่มีหน้าที่นำสืบในนัดใดๆ เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วจะไม่มาในนัดนั้นก็ได้และถือว่าผู้นั้นสละสิทธิถามค้นพยานที่นำมาสืบในนัดนั้น ดังนั้นเพื่อประโยชน์ของแต่ละฝ่าย ทั้งผู้ร้องขอและผู้คัดค้านควรมาศาลทุกนัด
คำสั่งศาล
หลังการไต่สวนศาลจะมีคำสั่ง ๒ รูปแบบ คือ
๑. คำสั่งยกคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ จะเกิดขึ้นเนื่องจากไต่สวนแล้วได้ความจริงว่า ลูกหนี้ไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัว หรือไม่ได้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขของการฟื้นฟูกิจการ หนี้สินรวมกันไม่ถึง ๑๐ ล้านบาท ไม่มีเหตุสมควรในการฟื้นฟูกิจการ ไม่มีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ และผู้ร้องขอยื่นคำร้องโดยไม่สุจริต กล่าวคือไม่ได้ยื่นโดยมีวัตถุประสงค์ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
๒. คำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เมื่อศาลไต่สวนแล้วเห็นว่ามีเหตุสมควรและช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและผู้ร้องขอได้ยื่นคำร้องโดยสุจริต ศาลจะมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและตั้งผู้ทำแผน หากไม่สามารถมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนได้ศาลอาจมีคำสั่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้บริหารของลูกหนี้เป็นผู้บริหารชั่วคราวภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จนกว่าจะมีการตั้งผู้ทำแผน โดยศาลจะสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์เรียกประชุมเจ้าหนี้โดยเร็วเพื่อพิจารณาเลือกบุคคลที่เหมาะสมเป็นผู้ทำแผน
การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการซ้ำ
· กรณีที่เคยมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการแล้วแต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ ยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ หากมีการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเข้ามาอีกภายในระยะเวลา ๖ เดือนนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง จะต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาจากเหตุผลที่ศาลยกคำร้องขอเดิมเพราะเหตุใด เหตุที่นำมาอ้างในคดีครั้งล่าสุดนี้เป็นเหตุผลหรือข้อเท็จจริงเดิมหรือไม่หรือเป็นเหตุผลหรือข้อเท็จจริงใหม่ หากต่างเหตุผลหรือข้อเท็จจริงก็ถือว่าเป็นประเด็นที่ศาลยังไม่ได้มีการวินิจฉัยหรือชี้ขาด จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
· ตาม พรบ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลายไม่ได้บัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ จึงต้องนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ มาบังคับใช้โดยอนุโลม
มาตรา ๑๔๔ เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้ว ห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น
มาตรา ๑๔๘ คดีที่ได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งที่สุดแล้ว ห้ามมิให้คู่ความเดียวกันรื้อร้องฟ้องกันอีก ในประเด็นที่ได้วินิจฉัย โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน
· กรณีที่สาระสำคัญในเหตุที่อ้างเป็นช่องทางในการฟื้นฟูกิจการแตกต่างจากคดีก่อน ประกอบกับมีเหตุเกิดขึ้นใหม่อันจะส่งผลดีต่อการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่อ้างต่างจากคดีเดิม การที่ศาลรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการไว้พิจารณาจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (อ้าง คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๘๗๘/๒๕๔๔)
· กรณีที่ในคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยเกี่ยวกับช่องทางในการฟื้นฟูกิจการว่าไม่เป็นช่องทางในการฟื้นฟูกิจการและในคดีหลังก็ได้มีการเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการที่มีสาระสำคัญเหมือนคดีก่อน การพิจารณาวินิจฉัยในคดีหลังจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (อ้าง คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๖๕๐/๒๕๔๘)
· การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของลูกหนี้และเจ้าหนี้ทั้งหลาย การดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีฟื้นฟูกิจการในคดีหนึ่งก็เสมือนเป็นการกระทำแทนบุคคลอื่นๆ ด้วย แม้ในคดีก่อนมีการยื่นคำร้องขอโดยลูกหนี้หรือเจ้าหนี้ต่างรายกันก็ถือเป็นการกระทำแทนบุคคลอื่นๆ ด้วย หากในคดีก่อนศาลได้มีการวินิจฉัย เกี่ยวกับช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แล้วและต่อมาในคดีหลังมีการเสนอช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีสาระสำคัญเหมือนในคดีก่อน การวินิจฉัยในคดีหลังย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ (อ้าง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๕๔๑/๒๕๕๘)
· ในการร้องขอฟื้นฟูกิจการในคดีหลังที่ผู้ร้องได้อ้างเหตุว่าลูกหนี้ประสบภาวะวิกฤติเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน ทำให้ลูกหนี้มีภาระหนี้เพิ่มเป็นมูลเหตุในการร้องขอฟื้นฟูกิจการครั้งหลังซึ่งเป็นเหตุที่เคยอ้างมาแล้วในคดีแรกแม้ว่าครั้งหลังจะต่างผู้ร้องกันแต่เมื่อคดีแรกศาลได้เห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการและยกเลิกการฟื้นฟูกิจการก็ไม่ปรากฏเหตุใหม่ในสาระสำคัญที่ทำให้ลูกหนี้หรือผู้ร้องมีสิทธิร้องขอฟื้นฟูกิจการได้อีก การที่เจ้าหนี้จะมายื่นขอฟื้นฟูกิจการอีกเป็นการร้องซ้ำตาม ปวพ. มาตรา ๑๔๘ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย มาตรา ๑๔