Last updated: 13 ม.ค. 2568 | 28 จำนวนผู้เข้าชม |
การฟื้นฟูกิจการสำหรับธุรกิจ SMEs
ธุรกิจ SMEs หรือที่เรียกว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมนั้น มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อเศรษฐกิจเกิดภาวะชะงักหรือเกิดวิกฤติ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมย่อมได้รับผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นกำหมายจึงเปิดโอกาสให้ลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ประสบปัญหาไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือกิจการขาดสภาพคล่องสามารถยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้
การฟื้นฟูกิจการมีประโยชน์สำหรับธุรกิจ SMEs อย่างไร
1. เมื่อศาลมีคำสั่งรับคำร้องขอฟื้นฟูกิจการลูกหนี้จะอยู่ในสภาวะพักชำระหนี้หรือ Automatic stay เจ้าหนี้จะฟ้องลูกหนี้หรือยึดทรัพย์ลูกหนี้ระหว่างนี้ไม่ได้ เว้นแต่จะเป็นหนี้ที่ผู้บริหารแผนหรือลูกหนี้ก่อขึ้นนับตั้งแต่ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาล และหากหนี้นั้นผู้บริหารแผนไม่ชำระเจ้าหนี้ก็สามารถใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องได้
2. คดีแพ่งที่เจ้าหนี้ฟ้องลูกหนี้จะต้องงดการพิจารณา หากมีการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดก็ต้องงดการขายทอดตลาดนั้นไว้
3. ส่วนผู้ให้บริการไฟฟ้า ประปา ไม่สามารถระงับการให้บริการได้ เว้นแต่ผู้บริหารแผนจะผิดนัดชำระ
4. ลูกหนี้สามารถดำเนินกิจการต่อได้และสามารถขอสินเชื่อเพื่อการค้าตามปกติได้
ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
กรณีธุรกิจ SMEs ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้แก่
1. ลูกหนี้ ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดา คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัดหรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ที่มีการประกอบธุรกิจในลักษณะเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือจดทะเบียนกับหน่วยงานอื่นๆ ของภาครัฐ (ช่องทางการขึ้นทะเบียนเข้าไปที่เว็บไซต์ของ สสว. www.sme.go.th หรือสอบถามที่ สสว. call center 1301 )
2. เจ้าหนี้ ก็สามารถเป็นผู้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการได้เช่นเดียวกัน โดยจะเป็นเจ้าหนี้รายเดียวหรือหลายรายรวมกันก็ได้ โดยหนี้นั้นต้องเป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการของลูกหนี้
ลักษณะของธุรกิจ SMEs
โดยแบ่งออกเป็น 1) ภาคการผลิตและ 2) ภาคการค้าและการบริการ และจะพิจารณาจากขนาดการจ้างงานและรายได้
วิสาหกิจขนาดย่อม
ภาคการผลิต : มีขนาดการจ้างงานไม่เกิน 50 คน มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท
ภาคการค้าและการบริการ : มีขนาดการจ้างงานไม่เกิน 50 คน มีรายได้ไม่เกิน 50 ล้านบาท
วิสาหกิจขนาดกลาง
ภาคการผลิต : มีขนาดการจ้างงานไม่เกิน 200 คน มีรายได้ไม่เกิน 500 ล้านบาท
ภาคการค้าและการบริการ : มีขนาดการจ้างงานไม่เกิน 100 คน มีรายได้ไม่เกิน 300 ล้านบาท
หลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการของธุรกิจ SMEs
1. ลูกหนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้
2. เป็นหนี้ที่เกิดจากการดำเนินกิจการ
3. กรณีลูกหนี้เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีหนี้จำนวนที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท
4. กรณีที่ลูกหนี้เป็นคณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือนิติบุคคลอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมีหนี้จำนวนที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาท
5. กรณีลูกหนี้เป็นบริษัทจำกัดมีหนี้จำนวนที่แน่นอนไม่น้อยกว่า 3 ล้านบาทแต่ไม่ถึง 10 ล้านบาท
6. มีเหตุอันควรและมีช่องทางในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้
ข้อสันนิษฐานว่าลูกหนี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะสามารถชำระหนี้ได้
1. ลูกหนี้มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน
2. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดหรือได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้จากเจ้าหนี้แล้วไม่ทำการชำระหนี้ภายใน 30 วัน
3. ลูกหนี้ไม่มีทรัพย์สินที่จะให้เจ้าหนี้บังคับตามคำพิพากษาได้
4. ลูกหนี้มีกระแสเงินสดไม่พอชำระหนี้
5. ลูกหนี้มีพฤติการณ์ผิดนัดชำระหนี้เจ้าหนี้รายใดรายหนึ่งแล้วมีแนวโน้มว่าจะผิดนัดชำระหนี้กับเจ้าหนี้รายอื่นๆ
ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ
1. ก่อนยื่นคำร้องต่อศาล ลูกหนี้และเจ้าหนี้ต้องทำความตกลงร่วมกันที่ให้ลูกหนี้ฟื้นฟูกิจการ โดยมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อทำแผนการชำระหนี้
2. ในการประชุมจะต้องมีการจัดทำรายงานการประชุมซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบกับแผนในสัดส่วน 2 ใน 3 ของจำนวนหนี้ทั้งหมด
3. จัดทำคำร้องเพื่อยื่นต่อศาล โดยมีค่าธรรมเนียมศาล 1,000 บาท และเงินประกันค่าใช้จ่าย 10,000 บาท หากไม่วางเงินประกันศาลจะสั่งจำหน่ายคดี
4. เมื่อยื่นคำรองขอแล้วจะถอนไม่ได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต หากศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนแล้ว ศาลจะอนุญาตให้ถอนคำร้องขอไม่ได้
ขั้นตอนภายหลังศาลรับคำร้อง
1. ศาลจะมีการไต่สวนคำร้องและมีคำสั่ง หากศาลสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผน ผู้บริหารแผนจะต้องดำเนินการตามแผนภายในระยะเวลาที่กำหนดไม่เกิน 3 ปี
2. หากระยะเวลาตามแผนสิ้นสุดลงแล้วแผนฟื้นฟูสำเร็จ ศาลจะมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ แต่หากแผนยังไม่สำเร็จศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
ผลของคำสั่งศาลที่เห็นชอบด้วยแผน
1. แผนการฟื้นฟูที่เจ้าหนี้เห็นชอบด้วยนั้นย่อมผูกพันเจ้าหนี้ที่เข้าร่วมประชุมหรือลงมติหรือได้รับแจ้งให้เข้าร่วมประชุมเพื่อลงมติดังกล่าว
2. ผู้ค้ำประกันหรือลูกหนี้ร่วมไม่หลุดพ้นความรับผิด ยังคงต้องรับผิดตามสัญญาเดิม
3. กรณีศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้และลูกหนี้ยังคงต้องผูกพันตามแผนต่อไปจนกว่าจะดำเนินการตามแผนเสร็จ
4. กรณีศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและเห็นชอบด้วยแผนหรือมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ลูกหนี้หรือผู้บริหารของลูกหนี้กลับเข้ามามีอำนาจในการบริหารจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามเดิม
ปรึกษาเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการติดต่อ 092-568-1666 หรือ chandislaw@gmail.com