สัญญาอันตรายที่เจ้าของกิจการต้องระวัง อย่าหลงเซ็นสัญญาโดยไม่ทันคิด

Last updated: 15 ต.ค. 2567  |  2579 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สัญญาอันตรายที่เจ้าของกิจการต้องระวัง

สัญญาอันตรายที่เจ้าของกิจการต้องระวัง

เจ้าของกิจการหลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องราวของผู้ประกอบการที่ถูกยึดกิจการไป ทั้งๆ ตนเองสร้างมากับมือจนประสบความสำเร็จ แต่กลับต้องสูญเสียไปเพียงเพราะสัญญาอันตรายที่ดูเหมือนธรรมดา คุณเองก็อาจเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้โดยไม่รู้ตัว

 

บทความนี้ทีมงานที่ปรึกษากฎหมายชาญดิศลอว์ แอนด์ บิสิเนส จะขอแนะนำให้คุณรู้จักกับสัญญาไม่เป็นธรรมที่ผู้ไม่หวังดีมักใช้เป็นเครื่องมือในการยึดกิจการคุณ พร้อมวิธีป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ เพื่อรักษาธุรกิจที่คุณตั้งใจสร้างมาไว้ในมือของคุณเอง

 

เมื่อผู้ไม่หวังดีเข้ามาในคราบผู้ให้ความช่วยเหลือ

การเข้ามาของผู้ไม่หวังดีมักจะค่อยๆ คืบคลานเข้ามาอย่างแนบเนียน ในคราบของการเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือ พวกเขาจะเสนอเงินกู้ให้คุณนำไปใช้จ่ายในกิจการ แต่แลกกับการบังคับให้เอาอสังหาริมทรัพย์มาจำนองเป็นประกัน ซึ่งถ้ามองผิวเผินก็ดูเหมือนเป็นเงื่อนไขปกติของการกู้ยืมเงิน แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

 

ต่อมาพวกเขาจะเสนอข้อตกลงให้พวกเขาเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการของคุณ โดยมีข้อบังคับที่ขัดแย้งกับกฎหมาย เช่น การกำหนดให้ต้องมีเสียงของผู้ถือหุ้นรายเล็กในการลงคะแนนออกเสียงทุกครั้ง ทั้งที่โดยหลักแล้วต้องถือเอาเสียงส่วนใหญ่ ทำให้ในการโหวตลงคะแนนเพื่อตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจการทำได้ยากหากไม่ได้รับความยินยอมจากพรรคพวกของเขา ถึงแม้คุณจะเป็นเจ้าของกิจการและถือหุ้นส่วนใหญ่ก็ตามก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย

 

ร้ายยิ่งกว่านั้นเขาจะเพิ่มข้อตกลงให้พรรคพวกหรือคนของเขาเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการร่วมในการลงนามสั่งจ่ายเช็คหรือลงนามอนุมัติคำสั่งต่างๆ  นั่นคือกับดักอันตรายอย่างยิ่งเพราะพวกเขาสามารถกลั่นแกล้งให้กิจการของคุณมีปัญหากับคู่ค้าด้วยการระงับการลงนามในเช็คหรือไม่ลงนามสั่งจ่ายเช็ค ทำให้คุณผิดนัดกับคู่ค้า ส่งผลให้กิจการของคุณเดินหน้าต่อไม่ได้จนประสบปัญหาในที่สุด

 

“นี่คือบทเรียนสำคัญที่เจ้าของกิจการควรรู้เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ กิจการของคุณ คุณควรมีอำนาจตัดสินใจ อย่าให้ใคร (โดยเฉพาะเจ้าหนี้) เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างเด็ดขาด”

 

ข้อบังคับที่ทำให้เจ้าของกิจการเสียเปรียบทุกทาง

นอกจากผู้ไม่หวังดีเหล่านี้จะเข้ามาในคราบของเจ้าหนี้แล้ว พวกนี้ยังจะเสนอให้คุณตกลงยินยอมกับเงื่อนไขอื่นๆ ที่ทำให้พวกเขาเท่านั้นได้รับประโยชน์ นอกจจากจะต้องจำใจรับพวกเขาเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นแล้วยังต้องกำหนดข้อบังคับของบริษัทว่าในการออกเสียงลงมติใดๆ ก็ตาม จะต้องมีหุ้นส่วนอื่นๆ (ก็พรรคพวกเขานั่นเอง) ยินยอมด้วย เช่น แบ่งผู้ถือหุ้นออกเป็นกลุ่มๆ ได้แก่ กลุ่ม ก (เจ้าของบริษัท) กลุ่ม ข และกลุ่ม ค (กลุ่มของเจ้าหนี้) ในการออกเสียงลงมติแม้เจ้าของกิจการจะถือหุ้นส่วนมากในบริษัทก็ตาม ในการออกเสียงก็จะต้องผู้ถือหุ้นกลุ่ม ข หรือ ค ยินยอมด้วย มิฉะนั้นมติจะไม่ผ่าน ข้อบังคับที่ว่านี้จะทำให้เจ้าของกิจการเสียเปรียบอย่างมาก เพราะแม้จะถือหุ้นส่วนใหญ่ในกิจการก็ตามก็จะไม่มีอำนาจในการดำเนินการอะไรได้เลยหากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นที่มีเสียงส่วนน้อยที่แฝงตัวเข้ามา

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีการบังคับให้เจ้าของกิจการทำข้อตกลงสิทธิการซื้อขายหุ้นที่ไม่เป็นธรรม พูดกันแบบง่ายๆ หากมีการผิดนัดชำระหนี้ การไม่ปฏิบัติตามสัญญาหรือความบกพร่องในการบริหารงานของเจ้าของที่ทำให้กิจการไปต่อไม่ได้ เจ้าหนี้เหล่านี้ที่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยก็มีสิทธิในการขายหุ้นคืนแก่เจ้าของกิจการในราคาที่สูง และมีสิทธิซื้อหุ้นของเจ้าของกิจการตัวจริงในราคาต่ำ

 

ยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เจ้าหนี้พวกนี้จะทำข้อตกลงให้เจ้าของกิจการตัวจริงให้ต้องจ่ายผลประโยชน์หรือเงินปันผลให้กับเจ้าหนี้เหล่านี้แม้กิจการจะขาดทุนก็ตาม

 

“ข้อตกลงเหล่านี้ถูกร่างขึ้นมาอย่างแยบยลเพื่อทำให้เจ้าของกิจการตกที่นั่งลำบาก และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมขายหุ้นในที่สุด !!”

 

 

อย่าหลงเซ็นสัญญาโดยไม่ทันได้ไตร่ตรอง

ในยามที่กิจการต้องการเงินหมุนเวียน หรือกำลังขยายกิจการ เจ้าของมักจะเผลอใจหลวมตัวเซ็นสัญญาอันตรายโดยไม่ทันได้พิจารณาให้ถี่ถ้วน ความหวังที่จะได้เงินมาบริหารจัดการธุรกิจ ทำให้มองข้ามเงื่อนไขที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้นไป ซึ่งนั่นคือจุดเริ่มต้นของหายนะที่จะทำให้คุณต้องเสียธุรกิจที่สร้างมากับมือในที่สุด ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในสถานการณ์คับขันแค่ไหน อย่าด่วนตัดสินใจเซ็นสัญญาใดๆ โดยไม่ได้พิจารณาข้อตกลงให้ถี่ถ้วนเป็นอันขาด ให้ระวังเป็นพิเศษกับสัญญาไม่เป็นธรรมที่มีเงื่อนไขผูกมัดกิจการของคุณเอาไว้

 

 

เจ้าของกิจการควรมีทีมที่ปรึกษากฎหมายไว้ข้างกาย

เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะเห็นว่าข้อสัญญาอันตรายเหล่านี้ถูกร่างขึ้นด้วยทีมนักกฎหมายระดับหัวกะทิและค่าจ้างที่แพงมากตามมูลค่าของกิจการเป้าหมายที่จะถูกฮุบ โดยจะเห็นได้จากข้อสัญญาที่มีเพียงฝ่ายเจ้าหนี้ที่ได้ประโยชน์และปิดทุกจุดทางออกของเจ้าของกิจการไว้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ดังนั้นเจ้าของกิจการเองจึงควรมีทีมที่ปรึกษากฎหมายไว้ข้างกาย อย่าคิดว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เจ้าของกิจการควรถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการป้องกันความเสียหายซึ่งหากเกิดขึ้นแล้วมันจะมีมูลค่าสูงจนคาดไม่ถึง ในการทำนิติกรรมใดที่สำคัญเจ้าของกิจการจึงควรปรึกษาทนายความผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจสอบสัญญาก่อนเซ็นเสมอ อย่าปล่อยให้ความหวังที่จะได้เงินมาหมุนธุรกิจ ทำให้คุณต้องแลกมากับการความเสี่ยงที่จะถูกยึดกิจการที่คุณสร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรง

 

บทสรุป

การป้องกันไม่ให้ธุรกิจของคุณตกไปอยู่ในมือของผู้อื่น อยู่ที่การระมัดระวังไม่ให้ตัวเองหลงเซ็นสัญญาอันตรายที่ดูเหมือนจะให้ประโยชน์ในระยะสั้น แต่แฝงไปด้วยเงื่อนไขที่จะมัดมือคุณในระยะยาว จนกลายเป็นเครื่องมือในการยึดกิจการในที่สุด ดังนั้นจงใช้วิจารณญาณในการพิจารณาทุกสัญญาอย่างละเอียดถี่ถ้วน เพื่อรักษาอำนาจการบริหารธุรกิจที่คุณตั้งใจสร้างเอาไว้ในมือของคุณเองตลอดไป

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้