เมื่อต้องสมรส จดทะเบียนดีไหม โดย สำนักงานทนายความชาญดิศ

Last updated: 21 ก.พ. 2565  |  3166 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อต้องสมรส จดทะเบียนดีไหม โดย สำนักงานทนายความชาญดิศ

เมื่อต้องสมรส จดทะเบียนดีไหม

คุณชุติมา (นามสมมติ) ได้โทรเข้ามาปรึกษาดิฉัน เธอบอกว่าเธอคบหากับแฟนมานานกว่าแปดปี ทางครอบครัวเธอเองก็เร่งรัดให้มีการแต่งงาน แต่แฟนของเธอก็ตกลงแต่งงานแบบไม่ค่อยเต็มใจนักพร้อมกับยื่นข้อเสนอว่าจัดพิธีแต่งงานเพียงอย่างเดียวโดยจะไม่จดทะเบียนสมรสด้วยโดยอ้างเรื่องหนี้สิน เรื่องนี้ทำให้เธอกังวลใจมากว่าการแต่งงานที่ไม่จดทะเบียนสมรสนั้นจะส่งผลเสียอย่างไรต่อชีวิตคู่ในอนาคตของเธอ

กฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการสมรสไว้อย่างไร

การสมรสหรือการแต่งงานนั้นคือการเปลี่ยนผ่านสถานภาพที่สำคัญของชายและหญิงจากสถานภาพโสดก็จะเปลี่ยนเป็นสมรสแล้ว อันนำมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ อะไรที่เคยคิดทำได้เพียงลำพังก็ต้องมาคิดและตัดสินใจร่วมกันและบางครั้งก็ต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายด้วย

 

ในทางประเพณีนั้นการสมรสคือพิธีกรรมที่ประกาศให้สังคมคนใกล้ชิดของทั้งสองฝ่ายได้รับทราบว่าชายและหญิงนั้นตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันนับจากนี้ต่อไป แต่ในทางกฎหมาย การแต่งงานหรือการสมรสนั้นคือการที่ชายและหญิงยินยอมที่จะใช้ชีวิตร่วมกันและมีการแสดงเจตนาให้ปรากฏด้วยการไปจดทะเบียนสมรสต่อเจ้าหน้าที่อำเภอหรือเขต จากนั้นทั้งสองคนก็จะมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย

 

กฎหมายบัญญัติว่าชายและหญิงจะสมรสกันได้เมื่ออายุครบ ๑๗ ปีบริบูรณ์ และหากยังเป็นผู้เยาว์อยู่ (คือยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือยังอายุไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์) ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดมารดาหรือผู้ปกครอง (หากแอบไปสมรสกันเองโดยไม่ได้รับความยินยอม การสมรสนั้นจะเป็นโมฆียะ (คือถูกบอกล้างได้ภายหลัง) 

 

แต่ในบางครั้งอาจมีความจำเป็นที่เด็กหรือผู้ที่ยังอายุไม่ครบ ๑๗ ปี จะต้องทำการสมรสเนื่องจากความจำเป็นบางอย่าง เช่น ตั้งครรภ์ ก็อาจขอให้ศาลสั่งให้ทำการสมรสได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๔๔๘ และ มาตรา ๑๔๕๕

 

กฎหมายรับรองระบบความเป็นผัวเดียวเมียเดียวไว้ ด้วยการบัญญัติว่าชายลและหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสแล้วไม่ได้ ตัวอย่างเช่น หากชายได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่ก่อนแล้ว จะมาจดทะเบียนสมรสกับหญิงอีกคนภายหลังไม่ได้ แต่ถ้าชายนั้นไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับหญิงคนแรกไว้ก่อน หญิงคนแรกนั้นไม่ถือว่าเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย (กฎหมายไม่รับรอง) ชายนั้นสามารถจดทะเบียนสมรสกับหญิงคนที่สองซึ่งมาทีหลังได้ เข้าทำนองมาทีหลังแต่ได้กินก่อนนั่นแหละ

 

ในอดีตการจดทะเบียนสมรสซ้อนเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะระบบฐานข้อมูลยังเชื่อมไม่ถึงกัน จึงพบว่ามีกรณีจดทะเบียนสมรสกับคนนี้ที่เขตหนึ่ง แล้วไปจดกับคนอื่นที่จังหวัดอื่นอยู่เสมอ แต่ในปัจจุบันฐานข้อมูลมีการเชื่อมถึงกัน ดังนั้นจึงสามารถทำการตรวจสอบได้ว่าคนที่เราจะสมรสด้วยนั้นได้จดทะเบียนสมรสกับใครอยู่ก่อนแล้วหรือเปล่า ตามมาตรา ๑๔๕๒, มาตรา ๑๔๕๗ และมาตรา ๑๔๕๘ แต่ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถเดินดุ่มๆ ไปถามเจ้าหน้าที่ได้นะ เฉพาะเจ้าตัวหรือผู้เกี่ยวข้องหรือมีคำสั่งศาลจึงจะตรวจสอบได้ (แต่ในทางปฏิบัติก็เห็นเขาสืบทางลับกันได้นะ) 

 

สิทธิและหน้าที่ของสามีภริยาตามกฎหมาย

ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่ว่าสิทธิหน้าที่ของสามีภริยาตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าหากไม่ใช่สามีภริยาที่ถูกต้องตามกฎหมายก็ไม่ได้สิทธิและไม่มีหน้าที่ต่อกัน เช่น ไม่มีสิทธิไปฟ้องใครว่าเป็นชู้กับคู่ของเรา เพราะเมื่อไม่ใช่คู่สมรสตามกฎหมายก็ย่อมไม่ได้สิทธิตามกฎหมาย

 

การจดทะเบียนสมรสเป็นก้าวแรกของการเป็นสามีภริยาที่ได้รับการรับรองจากกฎหมาย สามีและภริยานั้นก็มีสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ประการแรกคือต้องอยู่กินกันฉันสามีภริยา (คือกินด้วยกัน อยู่ด้วยกัน และนอนด้วยกันนั่นแหละ) ซึ่งก็จะต้องร่วมกันออกค่าใช้จ่ายอุปการะเลี้ยงดูกันตามอัตภาพ (หรือถ้าฝ่ายหนึ่งมีรายได้มากกว่าจะออกค่าใช้จ่ายเลี้ยงดูอีกฝ่ายทั้งหมดก็ไม่ว่ากัน อันนี้กฎหมายไม่บังคับ แต่จะไม่อุปการะเลี้ยงดูกันเลยนั้น แบบนี้ไม่ได้)

 

ตลอดจนร่วมกันดูแลทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันระหว่างสมรส หรือที่เรียกว่าสินสมรส การจัดการทรัพย์สินบางอย่างจะต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย เช่น การกู้ยืม การซื้อขายที่ดิน เป็นต้น ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายด้วย (ซึ่งอีกฝ่ายนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ได้) และหากฝ่ายหนึ่งแอบไปทำนิติกรรมโดยพละการ อีกฝ่ายก็สามารถฟ้องเพิกถอนได้ (เว้นแต่ไปให้สัตยาบันไว้ เช่น รู้แล้วก็เฉยๆ ไม่ได้โต้แย้งอะไร หรือไปเซ็นรับรองให้ภายหลัง) 

 

การจดทะเบียนสมรสนั้นทำได้ได้มาซึ่งสิทธิในการขัดขวางไม่ให้ผู้อื่นหรือมือที่สามเข้ามายุ่งกับคู่สมรสของเราในทางชู้สาวโดยสามารถใช้สิทธิทางศาลในการฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ (ซึ่งหากเป็นสามีภริยาที่ไม่มีทะเบียนจะไม่ได้สิทธินั้น แม้จะมาก่อนก็ตาม) 

 

ปัญหาที่พบการอยู่กินกันโดยไม่จดทะเบียนสมรส

รวบรวมจากประเด็นที่มีผู้มาปรึกษา

  1. คุณดารา (นามสมมติ) ได้อยู่กินกับสามีโดยไม่จดทะเบียนสมรส คุณดาราติดเครดิตบูโร ทำให้ทำธุรกรรมยาก คุณดาราและสามีต้องการจะซื้อบ้านร่วมกัน จึงได้ใช้วิธีใช้ชื่อสามีและน้องสาวของสามีเป็นผู้กู้ แต่เวลาผ่อนสามีและคุณดาราผ่อนร่วมกันคนละครึ่ง ต่อมาคุณดารามีปัญหาเลิกรากับสามีแต่ตนเองไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิในบ้านหลังนี้ทั้งที่ตนเองร่วมกันผ่อนมาตลอด อีกทั้งเวลาจ่ายเงินค่างวดคุณดาราก็ส่งเงินสดให้สามีเป็นผู้จ่าย
  2. คุณเพียงพร (นามสมมติ) อยู่กินกับสามีโดยไม่จดทะเบียนสมรส มีลูกสาว ๑ คน อายุ ๕ ขวบ สามีไปจดทะเบียนสมรสกับหญิงคนใหม่และออกจากบ้านคุณเพียงพรไป โดยไม่ได้ส่งเสียเลี้ยงดูลูกอีกเลย คุณเพียงพรพยายามติดต่อให้อดีตสามีส่งเสียเลี้ยงดูลูก ไม่นานภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายก็ให้ทนายส่งโนติสเตือนไม่ให้คุณเพียงพรมายุ่งกับสามีอีก
  3. คุณสุชาติ มีบุตรผู้เยาว์สามคนที่เกิดจากภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส และคุณสุชาติยังไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร (เท่ากับว่าคุณสุชาติไม่ได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย) ต่อมาเลิกรากันกับมารดาของเด็ก โดยมารดาเด็กสั่งห้ามไม่ให้คุณสุชาติมาพบกับลูกอีกและปฏิเสธว่าคุณสุชาติไม่ใช่บิดาของเด็กทั้งสามคน
  4. คุณจินตนา (นามสมมติ) อยู่กินกับสามีโดยไม่จดทะเบียนสมรส สามีออกรถยนต์โดยคุณจิตนาเป็นผู้ค้ำประกัน ระหว่างที่ยังผ่อนรถอยู่นั้น คุณจินตนาได้เลิกกับสามีและแยกย้ายกันไปโดยสามีนำรถไปด้วย ต่อมามีหมายศาลมาถึงคุณจินตนาโดยเธอถูกฟ้องให้ชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน 
  5. คุณนภาพร (นามสมมติ) อยู่กินกับสามีโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส สามีเธอมีปัญหเครดิตบูโร ไม่สามารถซื้อรถได้ เธอจึงออกรเป็นชื่อของเธอให้สามีใช้ ต่อมามีปัญหาทะเลาะเลิกรากัน จึงตกลงแบ่งทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน โดยสามีขอรถไว้ใช้และตกลงว่าจะผ่อนเองจนหมด ต่อมาไม่นานคุณนภาพรถูกฟ้องคืนรถและชำระหนี้ค้าง แต่คุณจินตนาไม่สามารถติดต่อสามีได้และไม่ทราบว่าเขาไปอยู่ที่ไหน
  6. คุณดำรงธรรม (นามสมมติ) ได้เลิกรากับภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ระหว่างอยู่กินกันมีบุตรสี่คน โดยคุณดำรงธรรมเป็นผู้ปกครองเลี้ยงดูบุตรฝ่ายเดียวตลอดมา ต่อมาประสงค์จะจดทะเบียนรับรองบุตร แต่ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากต้องได้รับความยินยอมจากมารดา และมารดาก็ไม่ประสงค์จะมาให้ความยินยอม


ข้อดีบางประการของการไม่จดทะเบียนสมรส

แม้การจดทะเบียนสมรสจะมีข้อดีคือการได้รับการรับรองและคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย

แต่ถึงกระนั้นการอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่จดทะเบียนสมรสก็มีข้อดี ได้แก่

  1. ไม่ต้องร่วมรับผิดชอบหนี้สินของอีกฝ่าย
  2. หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีปัญหาหนี้สินที่อาจถูกยึดอายัดทรัพย์ ก็สามารถถ่ายโอนทรัพย์สินมาเป็นชื่อของอีกฝ่ายหนึ่งถือแทน
  3. เลิกร้างกันได้ง่าย
  4. หากมีบุตร บุตรนั้นก็จะเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของมารดาเพียงฝ่ายเดียว 


เหรียญย่อมมีสองด้าน ทุกทางย่อมมีข้อดีและข้อเสีย ทุกคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกหนทางที่เหมาะกับตนเอง แต่ในการเริ่มต้นชีวิตคู่นั้น สิ่งสำคัญคือการเห็นพ้องต้องกัน หากฝ่ายหนึ่งประสงค์จะจดทะเบียนสมรสแต่อีกฝ่ายไม่ยินยอม ย่อมร่วมทางกันต่อไปได้ยาก มีคนกล่าวว่าการสมรสคือการที่สมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย หากประโยชน์เพียงฝ่ายเดียวนั่นไม่ใช่การสมรส

 

.............................................

#ปรึกษาคดีครอบครัว #ทนายคดีครอบครัว 

 

 

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้