Last updated: 27 ต.ค. 2566 | 6622 จำนวนผู้เข้าชม |
การเล่นแชร์ทุกวันนี้มีรูปแบบที่หลากหลาย แต่เดิมนั้นการเล่นแชร์จะต้องจัดให้มีกาประมูลดอกเบี้ยแข่งกัน งวดไหนใครประมูลดอกเบี้ยได้สูงที่สุดก็จะได้เงินแชร์ไป ทุกวันนี้มีวงแชร์มากมายที่ไม่มีการประมูลดอกเบี้ยแต่ใช้วิธีการจอง ใครจองเข้ามาก่อนก็จะได้รับเงินไปก่อน คำถามที่ตามมาคือแชร์ลักษณะนี้ถือเป็นการเล่นแชร์ตาม พระราชบัญญัติการเล่นแชร์ พ.ศ.2534 หรือไม่
ก่อนอื่นก็จะต้องไปดูนิยามของการเล่นแชร์ตาม พระราชบัญญัติการเล่นแชรื พ.ศ.2534 ก่อนว่าให้นิยามไว้อย่างไร
ความหมายของแชร์ตาม พรบ. การเล่นแชร์ พ.ศ.2534
“...การที่บุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปตกลงกันเป็นสมาชิกวงแชร์ โดยแต่ละคนมีภาระที่จะส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใด รวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวด ๆ เพื่อให้สมาชิกวงแชร์หมุนเวียนกันรับทุนกองกลางแต่ละงวดนั้นไปโดยการประมูลหรือโดยวิธีอื่นใด”
จะเห็นได้ว่าการเล่นแชร์ตามกฎหมายนี้คือการจัดให้มีการส่งเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดเข้าสู่กองกลางเป็นคราวๆไป เพื่อให้สมาชิกในวงนั้นซึ่งต้องมีตั้งแต่สามคนขึ้นได้หมุนเวียนการนำเงินหรือทรัพย์สินนั้นไป โดยใครจะได้ไปก่อนหลังนั้นก็โดยใช้วิธีการประมูลดอกเบี้ยแข่งกัน งวดไหนใครประมูลดอกเบี้ยสูงที่สุดก็จะได้เงินแชร์ในงวดนั้นไปก่อน แต่หากไม่มีการประมูลดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นองคืประกอบหรือลักษณะสำคัญของการเล่นแชร์ตามนิยามที่กฎหมายให้ไว้ ก็จะถือไม่ใช่การเล่นแชร์ตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นการเล่นแชร์ลักษณะขั้นบันไดหรือตามลำดับการจองโดยไม่มีการประมูลดอกเบี้ยนั้นแม้จะเกินสามวงหรือมียอดทุนกองกลางเกินสามแสนตามพระราชบัญญัติการเล่นแชร์ก็ตามก็ไม่ผิด โดยเทียบเคียงจากแนวคำพิพากษาฎีกาดังต่อไปนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 747/2565
"..กลุ่มแชร์ออนไลน์ที่จำเลยตั้งขึ้นผ่านทางเฟชบุ๊คของจำเลยแต่ละวง จำเลยจะได้รับผลประโยชน์ตั้งแต่งวดแรกในฐานะสมาชิกลำดับที่ 1 เป็นเงินรวมที่สมาชิกทุกคนนำมาลงทุน โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยส่งเงินรวมเข้าเป็นทุนกองกลางเป็นงวดๆ ทั้งมิได้จัดให้มีการประมูลกันเป็นงวดๆ การกระทำของจำเลยมิใช่เป็นการเล่นแชร์ตาม พ.ร.บ.การเล่นแชร์ พ.ศ.2534 มาตรา 4 หากแต่เป็นการกระทำคล้ายเล่นแชร์โดยนำเงินของสมาชิกทุกคนไปหมุนเวียนจ่ายให้แก่สมาชิกแต่ละคนตามลำดับ..."