Last updated: 24 พ.ย. 2566 | 3884 จำนวนผู้เข้าชม |
ทนายความเป็นอาชีพอิสะที่ค่อนข้างเปิดกว้างและเป็นที่สนใจของบรรดานักศึกษาวิชากฎหมายที่เพิ่งจบการศึกษารวมถึงคนทำงานภาคเอกชน และข้าราชการที่มุ่งหวังจะประกอบอาชีพนี้หลังเกษียณ เพียงมีคุณสมบัติตามที่กำหนดและสอบได้ใบอนุญาตให้เป็นทนายความตามระเบียบก็สามารถก้าวสู่อาชีพนี้ได้ อาชีพทนายความมักถูกมองว่าค่าตอบแทนสูงและงานสบาย แต่ในความเป็นจริงแล้วหนทางการเป็นทนายความ (โดยเฉพาะทนายความใหม่) ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนที่คนภายนอกเห็น ทนายใหม่ที่เพิ่งก้าวเข้ามาในวงการประสบปัญหาหลายด้านทั้งในเรื่องของการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวัน การขาดแหล่งเรียนรู้ในการทำงานและการขาดโอกาสในการทำคดีที่หลากหลาย กลายเป็นว่าหลายคนมานะบากบั่นทุ่มเทพยายามสอบเพื่อให้ได้ใบอนุญาตให้เป็นทนายความแต่เมื่อได้สมใจแล้วกลับพบว่าไม่มีลูกความหรือได้ค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามที่วาดหวังไว้
1. ทนายความใหม่กับทะเลแห่งการแข่งขัน
ปัจจุบันทนายความทั่วประเทศมีจำนวนร่วมๆ แสนคน ซึ่งนับว่ามีจำนวนมากพอสมควรเมื่อเทียบกับปริมาณงานหรือความต้องการของตลาด ปัญหาคนล้นงานทำให้เกิดการแข่งขันที่สูงขึ้นตามมาเพื่อให้ตนเองได้รับการว่าจ้างให้ทำคดี ทนายใหม่จำนวนไม่น้อยใช้กลยุทธ์การหั่นราคาเพื่อให้ได้งาน มีลูกความท่านหนึ่งที่เข้ามาปรึกษาคดีกับผู้เขียน หลังจากที่แจ้งค่าวิชาชีพไปลูกค้าท่านนั้นก็บอกว่าทนายอีกท่านที่เขาปรึกษามาก่อนหน้าคิดค่าวิชาชีพเพียงครั้งละ 1,000 บาท ซึ่งในความเป็นจริงการไปศาลหรือการออกไปทำหน้าที่ครั้งหนึ่งของทนายความมีต้นทุนสูงกว่านั้นมาก ผู้เขียนจึงแปลกใจว่าทนายความที่เรียกค่าวิชาชีพเท่านั้นจะอยู่ได้อย่างไร เมื่อทนายความใช้วิธีการตัดราคาจึงส่งผลเสียในระยะยาวกับวงการทนายความเพราะแทนที่การว่าจ้างทำคดีจะยึดความไว้วางใจและความสามารถในการทำงานของทนายความเป็นหลัก กลายเป็นว่าใครเสนอราคาต่ำสุดคนนั้นก็ได้งานไป มองเผินๆ อาจเป็นเรื่องดีต่อตัวความ แต่หากมองกันให้ลึกซึ้งและรอบคอบแล้วเรื่องนี้ส่งผลเสียต่อตัวความเพราะทำให้ตัวความละเลยการพิจารณาความสามารถของทนายความ หากเจอทนายความที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำคดีนั้นๆ คดีของตัวความก็อาจเสียหายได้หรือหากโชคไม่ดีไปเจอทนายความที่ใช้เล่ห์เหลี่ยมหาเหตุเพื่อออกไปศาลหลายรอบเพื่อเบิกค่าวิชาชีพเพิ่มหลายครั้งจากตัวความก็มีมาแล้ว เช่นอ้างว่าศาลสั่งแก้ไขเอกสาร ส่งไปกี่รอบก็ถูกตีกลับมาแก้ไข วนเวียนอยู่อย่างนี้ เป็นต้น ดังนั้นการแข่งขันเพียงแค่การเสนอตัวเลขต่ำเพื่อให้ได้งานจะทำให้ทนายความมุ่งแต่จะห้ำหั่นค่าวิชาชีพแทนที่จะไปพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำงาน
2. แหล่งเรียนรู้ที่ถูกจำกัด
การสอบใบอนุญาตให้เป็นทนายความนั้นจะมีข้อกำหนดให้ผู้สมัครสอบจะต้องฝึกงานกับสำนักงานทนายความตามระยะเวลาที่กำหนด โดยจะต้องให้ทนายความที่มีอายุใบอนุญาตไม่น้อยกว่าเจ็ดปีเซ็นรับรองการฝึกงานให้ด้วย โดยเจตนาที่จะให้ผู้สมัครสอบนั้นได้เรียนรู้การทำงานจริงจากสำนักงานทนายความ แต่ในความเป็นจริงนั้นผู้สมัครสอบจำนวนไม่น้อยพบว่าไม่ค่อยจะมีทนายความรุ่นพี่รับฝึกงานหรือหากมีคนรับแต่ก็ไม่ได้ถ่ายทอดหรือสอนงานอะไร เพียงแต่เซ็นรับรองให้เท่านั้น ส่งผลให้เมื่อสอบผ่านตามเกณฑ์และได้เป็นทนายความแล้ว ทนายความใหม่ป้ายแดงเหล่านี้มีแต่ความรู้ทฤษฎีแต่ไม่สามารถว่าความได้เพราะขาดความรู้ในการทำงานจริง
แต่ก่อนนั้นสื่อความรู้นั้นเป็นสิ่งที่หายาก ทนายความในสมัยก่อนใช้วิธีติดสอยห้อยตามรุ่นพี่อยู่หลายปี ได้รับค่าจ้างบ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างบ้าง หากเจอรุ่นพี่ใจดีถ่ายทอดบอกสอนเคล็ดวิชาให้ก็นับว่าเป็นโชคดี แต่ส่วนใหญ่มักจะได้ความรู้แบบครูพักลักจำ ลองผิดลองถูกด้วยตนเองจนเกิดเป็นประสบการณ์ที่สร้างความมั่นใจในการทำงาน และด้วยเหตุที่ไม่ได้รับการถ่ายทอดบอกสอนครั้งที่ตนเองเป็นทนายความใหม่ เมื่อตนเองเติบโตขึ้นและมีประสบการณ์ช่ำชองมากขึ้นก็หวงแหนวิชาความรู้นั้นไว้ไม่ยอมถ่ายทอดบอกสอนแก่ทนายรุ่นน้องเฉกเช่นที่ตนเคยได้รับการปฏิบัติมา หากไม่ใช่ญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทหรือคุ้นเคยกันก็ยากที่จะมีใครเต็มใจถ่ายทอดประสบการณ์ทำคดีให้อย่างไม่ปิดบัง
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ทนายใหม่ขาดแหล่งเรียนรู้การทำงานในภาคปฏิบัติ ส่งผลให้ขาดความมั่นใจในการที่จะรับคดีหรือว่าความในศาล เมื่อขาดความมั่นใจก็ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกความได้ ทำให้ยากที่จะได้รับการว่าจ้างให้ดูแลคดี ทนายหลายคนจึงเกิดความท้อใจและหันเหเปลี่ยนทิศทางไปทำอาชีพอื่นก็มีไม่น้อย เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนัก
3. ภาพลักษณ์ที่ถูกทำลาย
ในทุกสาขาอาชีพย่อมมีทั้งคนดีและคนไม่ดีปะปนกันไป ในสายงานอาชีพทนายความก็เช่นเดียวกัน มีทนายความบางคนที่หลอกลวงลูกความไม่ว่าจะเป็นการรับรองว่าคดีชนะแน่นอนหรือสามารถเรียกค่าเสียหายได้หลายแสนหลายล้าน เพื่อให้ลูกความตัดสินใจว่าจ้างแม้จะต้องจ่ายค่าวิชาชีพแพงแค่ไหนก็ตาม หรือรับเงินค่าวิชาชีพแล้วก็ไม่ทำคดีให้ หรือแม้แต่การรับทำคดีให้ฝ่ายหนึ่งแล้วไปรับสินบนของอีกฝ่ายหนึ่งก็มี การที่มีทนายความบางส่วนฝ่าฝืนจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพอันดีงามส่งผลให้ทนายความถูกมองอย่างเหมาว่าเป็นอาชีพที่ไม่น่าไว้วางใจและกลัวว่าทนายจะมาเอาเปรียบหรือมาหาผลประโยชน์ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบกับทนายความทุกคนในระยะยาว
4. ทางรอดสำหรับทนายความใหม่
ถึงแม้ว่าการยืนหยัดอยู่ในสายอาชีพทนายความสำหรับทนายความใหม่ยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีหนทางในการเจริญเติบโตในวงการนี้ ทนายใหม่ยังคงสามารถเติบโตและเจริญก้าวหน้าได้อย่างสร้างสรรค์ด้วยการเริ่มจากพัฒนาบุคลิกภาพของตนเอง บุคลิกภาพที่ดีนั้นไม่ใช่แต่งกายดีสะอาดสะอ้านเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงการพูด การวางตัวในสถานการณ์ต่างๆ ตลอดจนทัศนคติที่ดี สิ่งเหล่านี้คือภาพลักษณ์ที่ปรากฏออกไปยังสายตาของบุคคลภายนอก เมื่อภาพลักษณ์ดีย่อมส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นตามมา
ประการถัดมาคือการทำตนให้เป็นที่รู้จักก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการได้มาซึ่งงาน การทำตนให้เป็นที่รู้จักนั้นมีหลายวิธีการไม่ว่าจะเป็นการทำงานเพื่อสังคม การรวมกลุ่มทำกิจกรรมรวมถึงการทำคอนเทนต์ให้ความรู้ผ่านสื่อโซเชียล เป็นต้น การที่ลูกความจะให้ทนายความคนไหนทำคดีนั้นแม้ความสามารถของทนายความจะเป็นสิ่งสำคัญแต่การตัดสินใจในท้ายที่สุดนั้นมักอยู่บนพื้นฐานของความรู้จักมักคุ้นหรือความไว้เนื้อเชื่อใจ
อย่างไรก็ตามการพัฒนาความรู้ภาคปฏิบัติให้สามารถทำคดีได้ด้วยตนเองอย่างมั่นใจตั้งแต่เริ่มต้นสอบข้อเท็จจริงจนคดีเสร็จสิ้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อทนายความมีความมั่นใจในการทำงาน ก็สร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นแก่ลูกความได้ด้วยเช่นกัน นำไปสู่การบอกต่อทำให้ทนายความมีงานเข้ามาอย่างต่อเนื่องจนทำให้สามารถเติบโตและยืนหยัดอยู่ในวิชาชีพนี้ได้อย่างแข็งแกร่ง
แม้แต่เดิมองค์ความรู้การทำงานภาคปฏิบัติจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีการถ่ายทอดบอกสอนกันอย่างแพร่หลายก็ตามแต่ในปัจจุบันก็ได้มีทนายความกลุ่มหนึ่งที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาความรู้ความสามารถในภาคปฏิบัติของทนายความใหม่ จึงได้ก่อตั้ง “ศูนย์ฝึกอบรมทนายความและที่ปรึกษากฎหมายชาญดิศลอว์” ขึ้นมาและสร้างหลักสูตรสอนทนายทำคดี เพื่อสอนการทำงานจริงให้กับทนายความใหม่ โดยการรวบรวมเอาประสบการณ์ของทนายความที่มีประสบการณ์ทำคดีมาอย่างหลากหลายและโชกโชนมาแบ่งปันถ่ายทอดให้กับทนายความใหม่ อาทิ สอนทำคดีฉ้อโกง สอนทำคดีครอบครองปรปักษ์ สอนทำคดียักยอก สอนทำคดียาเสพติด สอนการให้คำปรึกษากฎหมาย สอนเขียนอุทธรณ์และฎีกา เป็นต้น เพื่อให้ทนายความใหม่สามารถรับงานคดีได้หลากหลายและว่าความเองได้อย่างมั่นใจ ในท้ายที่สุดเมื่อทนายความใหม่มีความรู้ความสามารถในการทำคดีและได้รับการบ่มเพาะแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องจากทนายรุ่นพี่ก็จะย่อมส่งผลให้การทำงานของทนายใหม่มีคุณภาพและส่งให้ภาพลักษณ์ของทนายความไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น