Last updated: 11 ธ.ค. 2566 | 2574 จำนวนผู้เข้าชม |
3 ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับทนายความ
1. ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ถึงจะยืนหยัดอยู่ในอาชีพทนายความได้
วาทกรรมนี้ผู้เขียนเชื่อว่าทนายใหม่ทุกคนต้องเคยได้ยิน เพราะผู้เขียนเองก็ถูกเป่าหูมาแบบนี้เช่นเดียวกัน และผู้เขียนก็ตั้งข้อสงสัยในใจมาตลอดเหมือนกันว่ามันจริงเหรอ ใครเป็นคนกำหนดว่าต้องกี่ปี และอะไรคือเครื่องพิสูจน์ว่ายืนหยัดอยู่ได้หรือไม่ได้
วาทกรรมหรือความเชื่อนี้มีที่มาอย่างไรผู้เขียนไม่อาจทราบได้ แต่คาดเดาเอาเองว่าเนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาความรู้เกี่ยวกับการทำงานจริง เทคนิค ลูกล่อลูกชน ทักษะการแก้ปัญหา มันไม่มีการสอนอย่างเป็นระบบ ทนายความใหม่ต้องอาศัยพึ่งพาทนายความรุ่นพี่ คอยติดสอยห้อยตามทนายรุ่นพี่ไปศาลบ่อยๆ คอยดูรุ่นพี่เวลาทำงานแล้วจดจำมาใช้ในการทำงานของตนเอง ซึ่งกว่าจะปะติดปะต่อความรู้จนกลายเป็นทักษะที่สามารถทำงานได้จริงรวมถึงมีคนให้ความไว้วางใจให้ทำคดีก็ต้องใช้เวลานานหลายปี นั่นอาจเป็นที่มาของวาทกรรมที่ว่าต้องใช้เวลากว่า 5 ปีถึงจะยืนหยัดและทำงานได้ในสายอาชีพทนายความได้อย่างมั่นใจ
แต่โดยส่วนตัวผู้เขียนขอคัดค้านว่าวาทกรรมนี้ไม่เป็นความจริงอีกต่อไปแล้วในยุคสมัยนี้ เราอยู่ในยุคสมัยที่มีสื่อการเรียนรู้มากมายที่ทนายความใหม่สามารถค้นคว้าหาความรู้ในการทำงานได้โดยไม่ต้องอดทนติดตามทนายความรุ่นพี่เป็นปีๆ อีกต่อไป นอกจากนั้นระบบการสื่อสารที่รวดเร็วและกว้างขวางในปัจจุบันก็สามารถทำให้ทนายความและผู้ที่ต้องการทนายความสามารถเชื่อมต่อกันได้โดยไม่ต้องอาศัยการแนะนำแบบปากต่อปากเหมือนในสมัยก่อน
ส่วนการยืนหยัดในเส้นทางอาชีพนั้นก็ไม่สามารถวัดได้จากอายุตั๋วหรือใบอนุญาต แม้ได้ใบอนุญาตมานานหลายปีแต่ไม่เคยว่าความไม่เคยทำคดี ยังเรียกไม่ได้ว่ายืนหยัดอยู่ในสายอาชีพนี้ ผู้เขียนมองว่าการยืนหยัดอยู่ในอาชีพนี้ควรพิจารณาจากการที่ว่าทนายความผู้นั้นประกอบอาชีพทนายความเป็นอาชีพหลักหรือรายได้หลักมาจากอาชีพทนายความหรือไม่ หากรายได้หลักมาจากการประกอบอาชีพทนายความ มีคดีเข้ามาให้ทำอย่างต่อเนื่อง แม้อายุใบอนุญาตไม่มากก็เรียกได้ว่าทนายความผู้นั้นสามารถยืนหยัดอยู่ในอาชีพทนายความได้จริงๆ
2. อยากได้ความรู้การทำคดีต้องติดตามรุ่นพี่เท่านั้น
อย่างที่ผู้เขียนกล่าวไปในข้อแรกว่าในอดีตที่ผ่านมาความรู้เกี่ยวกับการทำงานจริง เทคนิค ลูกล่อลูกชน ทักษะการแก้ปัญหา มันไม่มีการสอนอย่างเป็นระบบ ทนายความใหม่ต้องอาศัยพึ่งพาทนายความรุ่นพี่ คอยติดสอยห้อยตามทนายรุ่นพี่ไปศาลบ่อยๆ คอยดูรุ่นพี่เวลาทำงานแล้วจดจำมาใช้ในการทำงานของตนเอง ทนายความรุ่นพี่จึงถือเป็นแหล่งความรู้ชั้นดีของทนายใหม่ แต่ก็มักจะพบว่าทนายความรุ่นพี่ไม่ค่อยอยากจะถ่ายทอดความรู้ให้กับทนายรุ่นน้องเท่าไร อาจจะเป็นเพราะว่ากว่าเขาจะได้เทคนิคความรู้การทำงานมาก็ไม่มีใครสอน แต่อาศัยครูพักลักจำมาเหมือนกัน เมื่อความรู้นั้นได้มาโดยยากก็คงไม่อยากสอนใครง่ายๆ หรืออาจมองว่าถ้าสอนไปแล้วจะเป็นการเพิ่มคู่แข่งในวิชาชีพก็เป็นไปได้เช่นกัน
แต่ในปัจจุบันการติดตามรุ่นพี่อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะทนายความใหม่หลายท่านที่ผู้เขียนได้เคยพูดคุยต่างพูดเป็นทำนองเดียวกันว่าไปขอฝึกงานก็ไม่มีใครสอนอะไร อีกทั้งยังมีภาระที่จะต้องทำงานหาเลี้ยงชีพทำให้ไม่สามารถไปฝังตัวทำงานเพื่อเรียนรู้คดีได้นานๆ โดยไม่มีรายได้แบบนั้น
สำหรับตัวผู้เขียนเองมองว่าปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับการทำคดีไม่ได้หายากเหมือนในอดีต สื่อการเรียนรู้มีมากมายทั้งหนังสือกฎหมาย คอร์สอบรมสอนทนายทำคดี คลิปความรู้ทางกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่มากมายตามสื่อออนไลน์ ให้ทนายความใหม่เก็บเกี่ยวความรู้ในการทำงาน จึงไม่จำเป็นที่ทนายใหม่จะต้องใช้วิธีการที่เสียเวลาแบบเดิม ดังนั้นโอกาสในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองของทนายความรวมถึงการเติบโตในสายอาชีพทนายความของบรรดาทนายความใหม่จึงไม่จำกัดอยู่ที่การพึ่งพารุ่นพี่อีกต่อไป
3. ต้องว่าความให้ชนะถึงจะเป็นทนายความที่เก่ง
นี่เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่ผิดที่ทำให้ทนายความใหม่มุ่งมั่นแต่การเอาชนะคู่ความอีกฝ่าย โดยลืมนึกถึงประโยชน์ของลูกความ ทนายความที่เก่งนั้นไม่ได้วัดกันที่ว่าต้องชนะคดีอย่างเดียว หากชนะคดีแล้วลูกความไม่ได้ประโยชน์อะไรหรือชนะไปแล้วคู่ความอีกฝ่ายกลับได้ประโยชน์มากกว่า นั่นก็ไม่อาจเรียกว่าเป็นทนายความที่เก่ง
ทนายความที่เก่งคือทนายความที่รู้ว่าเดินทางไหนลูกความได้ประโยชน์สูงสุดและเสี่ยงน้อยที่สุด หากการประนีประนอมทำให้ลูกความได้ประโยชน์มากกว่าก็ควรชี้แจงให้ลูกความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากลูกความตนเองไม่ได้กระทำถูกกฎหมายหรือขาวสะอาดร้อยเปอเซ็นต์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “มีแผล” ก็ไม่ควรดันลูกความเข้าสู่กระบวนซักฟอกที่สุ่มเสี่ยงทำให้ลูกความถูกเปิดแผล การยอมถอยหนึ่งก้าวหรือการยอมเฉือนเนื้อออกบางส่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์สำคัญของลูกความเอาไว้ได้ แม้ไม่เรียกว่าชนะในทางคดีความแต่ชนะใจลูกความ จึงจะเรียกได้ว่าทนายความที่เก่งอย่างแท้จริง เพราะหน้าที่ของทนายความไม่ใช่ผู้เอาชนะแต่คือผู้ปกป้องผลประโยชน์ลูกความ